cpall, PPAC, ค้นหาตัวตน, ค้นหาศักยภาพ, วิเคราะห์ศักยภาพ, สแกนลายนิ้วมือ, สแกนลายผิว

คุณพ่อคุณแม่ ทราบมั้ยคะว่า “ลูกมีทักษะการคิดด้านใดที่โดดเด่น ?”

 

คุณพ่อคุณแม่ ทราบมั้ยคะว่า “ลูกมีทักษะการคิดด้านใดที่โดดเด่น ?”

ทักษะการคิด (Thinking Skill) เป็นการทำงานของระบบสมองในการการประมวลผลข้อมูลที่ได้รับมา ในการเรียนรู้เพื่อทำความเข้าใจ  แก้ปัญหา และตัดสินใจ   รวมถึงการสร้างแนวคิดใหม่ ๆ ในเชิงสร้างสรรค์ และทักษะการคิดยังสามารถนำไปใช้ในการดำเนินชีวิต การตัดสินใจ การแก้ปัญหาได้อย่างถูกต้อง เหมาะสม และใช้ชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข

ทักษะการคิดของลูกจึงเป็นสิ่งสำคัญสำหรับคุณพ่อคุณแม่ที่จะช่วยลูกพัฒนาและส่งเสริมการเรียนรู้  หากคุณพ่อคุณแม่เข้าใจและรู้ถึงความถนัดในทักษะการคิดของลูก  และส่งเสริมความคิดในด้านที่ลูกมีความถนัด  หรือใช้วิธีการสอนที่เหมาะสมกับรูปแบบการคิด ลูกก็จะสามารถเรียนรู้สิ่งใหม่ได้เร็วและมีความเข้าใจ ลูกจะมีความสุขและสนุกกับการเรียนรู้ทำให้ลดปัญหาในการเรียนรู้สำหรับลูก   หากไปใช้ทักษะการคิดที่ลูกไม่ถนัดและใช้วิธีการสอนที่ไม่สอดคล้อง  หรือไม่ช่วยให้ลูกได้ใช้ทักษะการคิดที่เหมาะสม  ลูกอาจจะปฏิเสธเพราะรู้สึกกดดัน ไม่สนุก เนื่องจากใช้เวลานานในการเรียนรู้และก็ยังไม่เข้าใจอีกด้วย การเรียนรู้นั้นก็จะเป็นสิ่งที่น่าเบื่อ หรือลูกอาจจะปฏิเสธการเรียนรู้นั้นไปเลยก็ได้

ทักษะการคิดที่นำมาแนะนำให้คุณพ่อคุณแม่ในบทความนี้ เป็นทักษะการคิดพื้นฐานในการเรียนรู้ เพื่อที่จะได้นำไปใช้ในการช่วยพัฒนาส่งเสริมการเรียนรู้ให้กับลูก ๆ  มี 3  รูปแบบ ดังต่อไปนี้ค่ะ

  1. การคิดเชิงวิเคราะห์ (Analytical Thinking) คือ กระบวนการคิดวิเคราะห์เชื่อมโยงข้อมูลที่มีรายละเอียด สามารถจัดการข้อมูลที่มีความหลากหลาย มีความสัมพันธ์เชื่อมโยงกัน นำมาจัดหมวดหมู่ หรือแยกแยะข้อมูลส่วนต่าง ๆ ที่ได้รับมา จัดแบ่งระบบข้อมูลขนาดใหญ่ออกเป็นส่วน ๆ   และสามารถวิเคราะห์ความเชื่อมโยงของข้อมูล หรือทำความเข้าใจความสัมพันธ์ของส่วนประกอบต่าง ๆ ของข้อมูล และนำข้อมูลไปใช้ต่อในเชิงบูรณาการได้ดี
  2. การคิดเชิงระบบ (Systems Thinking) คือ กระบวนการคิดที่มีรูปแบบ มีขั้นตอน เป็นการทำความเข้าใจข้อมูลที่เป็นระบบ เป็นหมวดหมู่ คิดวิเคราะห์ทีละส่วน ถนัดในการคิดวิเคราะห์และทำความเข้าใจข้อมูลทีละเรื่อง เข้าใจทีละหมวดหมู่ของข้อมูล แล้วจึงนำความเข้าใจในแต่ละเรื่องนั้นมาเชื่อมโยงความสัมพันธ์กัน รูปแบบการคิดนี้จะไม่ถนัดในการเชื่อมโยงข้อมูลที่มีรายละเอียดปลีกย่อย หรือมีความหลากหลายในเวลาเดียวกัน
  3. การคิดสร้างสรรค์ (Creative Thinking) คือ กระบวนการคิดที่มีภาพเกิดขึ้น การคิดเป็นภาพ การสร้างมโนภาพ การใช้จินตนาการ หรือมีความคิดเชิงมิติสัมพันธ์ สามารถสร้างสรรค์ภาพทางความคิดใหม่ ๆ ที่เรียกว่า การใช้ความคิดในเชิงจินตนาการ หรือจินตภาพ ความสามารถในการรับรู้ความคิดใหม่ ๆ การคิดในเชิงนวัตกรรม และในบางครั้งอาจจะเกิดความคิดนอกกรอบได้

จากทักษะการคิดที่แนะนำข้างต้น  คุณพ่อคุณแม่ลองสังเกตลูก ๆ จากการเลี้ยงดูและการสอน  หากพบว่าลูกมีความถนัดในการใช้ทักษะการคิดรูปแบบใด ลองนำไปปรับใช้กับการเลี้ยงดู หรือนำไปช่วยในการจัดรูปแบบการเรียนการสอนให้กับลูก ๆ

สิ่งที่สำคัญสำหรับการส่งเสริมและพัฒนาการเรียนรู้ของเด็ก ๆ คือ เด็กเรียนรู้ทุกอย่างที่เข้ามาในชีวิตประจำวันทุกช่วงเวลา  และข้อมูลเหล่านั้นจะเข้าไปกระตุ้นสมองของเด็กทำให้เซลล์สมองส่วนต่าง ๆ เชื่อมโยงกันเป็นเครือข่ายเส้นใยสมองกับจุดเชื่อมต่อต่าง ๆ อย่างมากมาย ซึ่งจะทำให้เด็กเข้าใจและเรียนรู้สิ่งต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็ว และช่วงระยะเวลาที่สำคัญที่สุดสำหรับการเรียนรู้ของมนุษย์ คือ แรกเกิดถึง 7 ปี เพราะการพัฒนาสมองของมนุษย์ในช่วงวัยนี้จะพัฒนาไปถึง 80 % ดังนั้นคุณพ่อคุณแม่รวมถึงคุณครูผู้สอนจึงเป็นบุคคลสำคัญที่จะช่วยเด็ก ๆ ในการจัดการเรียนรู้ให้เหมาะสมกับวัยของเด็ก  ให้เด็กได้มีการเรียนรู้ผ่านการเล่น  เรียนรู้อย่างมีความสุข  พร้อมกับจัดสภาพแวดล้อมและกิจกรรมที่เหมาะสม  ดูแลทั้งด้านสุขนิสัยและโภชนาการที่เหมาะสม  จะช่วยให้เด็กพัฒนาศักยภาพสมองของเขาได้อย่างเต็มความสามารถ ไม่ว่าเด็กจะมีความถนัดในการใช้สมองรูปแบบใดก็ตามค่ะ

บทความ โดย พัชราภรณ์ คงสวัสดิ์ (นักวิเคราะห์ศักยภาพ P-PAC)

อ่านบทความอื่นๆ Click link

Leave a comment