cpall, PPAC, ค้นหาตัวตน, ค้นหาศักยภาพ, วิเคราะห์ศักยภาพ, สแกนลายนิ้วมือ, สแกนลายผิว

เมื่อลูกนกต้องไปโรงเรียนวันแรก

บทความนี้เขียนสำหรับคุณพ่อคุณแม่นกทั้งหลายนะคะที่ต้องพาลูกนกไปโรงเรียนค่ะ

ถ้าพูดถึงการพาลูกนกไปโรงเรียนในบทความนี้ขอให้คำจำกัดความถึงการไปโรงเรียนครั้งแรกหรือออกสู่สังคมใหม่ครั้งแรกของเหล่าลูกนกทั้งหลายนะคะ ผู้ปกครองหลายท่านอาจจะผ่านเหตุการณ์วันแรกของการไปโรงเรียนของลูก ๆ มาแล้วใช่ไหมคะ แต่บางท่านอาจจะกำลังลุ้นอยู่ว่าจะเอายังไงดีที่จะพาลูกนกไปโรงเรียนได้โดยสวัสดิภาพและปล่อยให้ลูกอยู่กับคุณครูที่โรงเรียนได้โดยไม่ร้องไห้ทั้งวันเหมือนที่เคยได้ยินเพื่อน ๆ พูดกันมา

ง่ายมากค่ะ  ถ้าคุณพ่อคุณแม่เคยพาลูกมาสแกนลายผิวและวิเคราะห์ผลแล้ว  ให้ดูนะคะว่าน้องเป็นลูกนกสายพันธุ์ไหนค่ะ  ถ้าเป็นลูกนกกระจอกเทศก็จะต้องให้เวลาปรับตัวหน่อยค่ะในการปรับตัวหมายความว่าเราต้องคุยกับคุณครูไว้ก่อนเลยว่าขออนุญาตอยู่กับน้องสักครึ่งวันในทุก ๆ วันของช่วงแรกนะคะ เพื่อให้ลูกได้มีเวลาเตรียมตัวเตรียมใจ ทั้งนี้เพราะว่าลูกนกกระจอกเทศจะคุ้นชินกับสังคมที่คุ้นเคยเท่านั้นค่ะถึงจะแสดงออกได้เต็มที่ ซึ่งถ้าไปโรงเรียนวันแรกเป็นสังคมใหม่น้องอาจจะร้องไห้ อาจจะเกาะอยู่กับชายกระโปรงคุณแม่หรือไปหลบอยู่ข้างหลังไม่ยอมแยกตัวออกจากคุณแม่เลยค่ะ  เนื่องจากในสายตาของน้อง   คุณครูที่โรงเรียนและเพื่อน ๆ ล้วนแต่เป็นคนแปลกหน้าทั้งนั้น เป็นสังคมที่ไม่คุ้นเคยของน้องค่ะ และถ้าเป็นไปได้เมื่อน้องปรับตัวเข้ากับสังคมที่โรงเรียนนี้แล้วก็พยายามอย่าเปลี่ยนโรงเรียนให้น้องบ่อย ๆ นะคะอาจจะอยู่กันยาว ๆ เลย เช่น ประถมไปมัธยม  จากมัธยมก็เรียนยาวไปจนถึงสอบเข้ามหาลัยเลยนะคะ หรือให้เปลี่ยนเฉพาะที่จำเป็น เพราะนกกระจอกเทศจะใช้เวลาในการปรับตัวกับสังคมใหม่นานกว่านกชนิดอื่นค่ะ จะทำให้เสียเวลาในการพัฒนาศักยภาพของน้องถ้าเราเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมของน้องบ่อย ๆ

แต่ถ้าลูกของคุณแม่เป็นลูกนกเหยี่ยว นิยามของเหยี่ยวคือทำตามเป้าหมายที่ตัวเองอยากทำเท่านั้น ถ้าเราไปบังคับฝืนใจให้เหยี่ยวไปโรงเรียนโดยที่ไม่มีการคุยกันก่อนว่าจะไปโรงเรียนเพื่ออะไร  จะไปทำอะไรและเขาจะได้อะไรจากการไปโรงเรียน  ซึ่งสิ่งที่เขาจะได้อะไรนั้นจะต้องเป็นสิ่งที่เขาต้องการตามวิสัยของเหยี่ยวด้วยค่ะ ลูกนกเหยี่ยวตัวนั้นจึงจะยินยอมให้ความร่วมมือในการไปโรงเรียน  หรือพูดง่าย ๆ ก็คือห้ามบังคับใจลูกนกเหยี่ยวค่ะต้องคุยกันก่อนเสมอ และถ้าเรารู้ว่าลูกนกเหยี่ยวมีความต้องการอะไรอยู่อันเป็นเป้าหมายของเขาอย่างชัดเจน เช่น อยากได้ของเล่นราคาแพงเราก็ต้องเก็บเอาไว้เป็นตัวล่อให้เขาไปโรงเรียน แล้วเมื่อถึงวันหยุดถึงค่อยไปซื้อของเล่นนั้นค่ะ เรื่องนี้สำคัญมากนะคะเราไม่ได้ตามใจลูกค่ะ แต่ในเมื่อเราต้องซื้อของเล่นให้ลูกอยู่แล้วเราก็ไม่ควรรีบด่วนซื้อค่ะเพราะว่าเราจะไม่ได้อะไรจากการซื้อของเล่นให้ลูกแถมเป็นการสปอยล์ด้วย จึงแนะนำว่าให้ใช้เป็นตัวแลกเปลี่ยนกับการที่เขาจะต้องประพฤติตนดี เป็นเด็กเรียบร้อยและไปโรงเรียนก่อน  แต่ถ้าน้องอยากไปโรงเรียนอยู่แล้วมันเป็นเป้าประสงค์เขา เราก็สบายไม่ต้องคุยเพื่อแลกเปลี่ยนด้วยของเล่นอะไรอีกแล้วค่ะ ซึ่งส่วนใหญ่เหยี่ยวเด็ก ๆอาจจะยังไม่มีเป้าหมายที่แรงกล้าในเรื่องใดชัดเจน เราก็จะจูงใจได้โดยง่าย และกิจกรรมที่โรงเรียนก็ควรเป็นแนวส่งเสริมให้น้องได้มีความเป็นผู้นำคุมโครงการหรือเป็นหัวหน้าห้องด้วยค่ะ ถึงจะคุ้มค่ากับการเป็นลูกนกเหยี่ยวไม่ใช่เรียนแบบผู้ตามนะคะ

แล้วถ้าลูกเป็นลูกนกห่านป่าล่ะคะจะทำอย่างไร  ห่านป่าเน้นการมีกติกาและขั้นตอน ความถูกต้องและมีการวางแผนเตรียมการล่วงหน้าก่อนเสมอ ดังนั้นลูกนกห่านป่าก็เช่นกันเราต้องมีการเตรียมความพร้อมให้เขาดูว่าสถานการณ์จริงที่โรงเรียนเขาทำอะไรกันบ้าง ถ้ามีวีดิทัศน์ของโรงเรียนประกอบ มีสถานที่ของโรงเรียนแสดงให้เห็นว่าห้องเรียนเป็นอย่างไร เขาทำอะไรกันในห้องเรียน สนามเด็กเล่นเป็นอย่างไร ระเบียบวินัยการเข้าแถวเป็นอย่างไร เริ่มเรียนกี่โมงถึงกี่โมง ได้พักตอนไหน จะได้ทานอาหารกี่โมง จะได้กลับบ้านกี่โมง เหล่านี้คือสิ่งที่ห่านป่าต้องการรู้ล่วงหน้าเสมอค่ะ ถ้าลูกนกห่านป่าทราบล่วงหน้าแล้วว่าเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นเป็นอย่างไรเขาจะสบายใจและเขาจะมีความมั่นคงทางจิตใจเพราะมันคือการเตรียมความพร้อมก่อน  จะทำให้เขามั่นใจและทำสิ่งที่ถูกต้องตามขั้นตอนได้   ที่สำคัญจะต้องไม่มีการ surprise ให้เขาตกใจ เพราะไม่เป็นไปตามขั้นตอนที่คุยกันไว้ด้วยค่ะ เนื่องจากนกห่านป่าโดยพื้นฐานมีความเป็นมืออาชีพสูงมากจึงต้องการการเตรียมความพร้อมทุกอย่างอย่างสมบูรณ์แบบล่วงหน้าเสมอค่ะ และห้ามเปลี่ยนแปลงหลักการตามที่คุยกันไว้ด้วยนะคะ

ถ้าเป็นลูกนกยูงเหรอคะ น้องนกยูงส่วนใหญ่จะมีเรื่องของอารมณ์ความรู้สึกนำมากกว่าหลักการและเหตุผลค่ะ ดังนั้นไม่จำเป็นต้องคุยเหตุผลที่ต้องไปโรงเรียน ไม่ต้องเตรียมความพร้อมว่าจะเกิดอะไรขึ้นที่โรงเรียน เพราะว่าน้องเป็นนกตรงกันข้ามกับนกห่านป่าโดยสิ้นเชิง สิ่งที่น้องนกยูงต้องการคือความสนุกสนานความร่าเริง สังคมที่เบิกบาน มีกิจกรรมทำมีเพื่อนมาก ๆ  มีการแบ่งปันและให้โอกาสน้องนกยูงได้แสดงออกค่ะ  ดังนั้นโรงเรียนที่เหมาะกับน้องนกยูงควรจะเป็นโรงเรียนที่เปิดโอกาสให้มีการแสดงออกทางการสื่อสารการพูดคุย และกิจกรรมทางสังคม รวมทั้งความสามารถเฉพาะทางหลายด้านค่ะ คือมีเวทีให้น้องได้มีโอกาสแสดงออกนั่นเอง และที่สำคัญจะต้องไม่เป็นโรงเรียนที่มีระบบการศึกษาแบบปิดหรือโรงเรียนแบบยุคเก่าที่เขาเรียกว่า conservative  ซึ่งมักจะมีคุณครูที่เป็นห่านป่าจำนวนมาก ไม่ต้องเตรียมความพร้อมในเรื่องของการเรียนให้กับน้องนกยูง แต่ ความสำคัญคือ ทำให้น้องนกยูงเชื่อมั่นว่าไปโรงเรียนแล้วเขาจะสนุกสนานมีคุณครูที่น่ารักเปิดโอกาสให้เขาได้แสดงออกแค่นั้นก็พอแล้วค่ะ ไม่ใช่คุณครูที่เอาแต่ดุและมีระเบียบวินัยเข้มข้นแบบคุณครูห่านป่า   โดยธรรมชาติของลูกนกยูงแล้วสิ่งที่เขาต้องการก็คือการได้รับการยอมรับในสังคม อันได้แก่เพื่อน ๆ ที่โรงเรียนและคุณครูที่ใส่ใจในตัวเขา และเห็นคุณค่าหรือพูดง่าย ๆ คือเห็นเขาในสายตาค่ะ  หมายความว่าในห้องเรียนก็จะต้องมีการเชิญชวน ยั่วเย้าให้น้องนกยูงได้มีโอกาสแสดงออก   เช่น ออกมาเล่านิทานให้เพื่อนฟัง  มาช่วยสอน ช่วยพรีเซนต์หน้าห้อง หรือโชว์ผลงานที่ทำได้ดี  เช่น เขียนบทความได้ดีให้มาอ่านให้เพื่อน ๆ ฟัง คัดลายมือได้สวย ให้ออกมาแสดงเป็นตัวอย่างของเพื่อน ๆ ซึ่งธรรมชาติของนกยูงจะชอบการแสดงออก และได้รับการยอมรับในสิ่งที่แสดงออกค่ะ พอน้องมีความสุขจากการแสดงออกแล้วได้รับการยอมรับน้องก็จะชอบไปโรงเรียนมากค่ะ  คุณแม่ก็ไม่ต้องทำอะไรเลย เพราะน้องจะดูแลตัวเองลุกขึ้นมาแต่งตัวแต่เช้าเพื่อจะได้รีบไปโรงเรียนไปหาเพื่อน ๆ ที่โรงเรียนเลยค่ะ

ลูกนกตัวสุดท้ายนะคะคือลูกนกแก้ว  เป็นลูกนกที่มีปัญหาน้อยที่สุดค่ะ เพราะเขาแทบจะอยู่ตรงกลางหรือเป็นนกที่ภาษาอังกฤษเขาเรียกว่า neutral  ความหมายก็คือนกแก้วไม่ชอบทะเลาะวิวาทกับคนในสังคมและมีแนวโน้มของการทำตัวให้กลมกลืนกับสังคมที่อยู่ด้วยสูงมาก   หรือพูดได้ว่านกแก้วมีความสามารถในการปรับตัวสูงนั่นเอง เราสามารถเอาน้องนกแก้วไปวางไว้ตรงไหนก็ได้  น้องนกแก้วก็จะอยู่ได้หรือรอดชีวิตหมดเลยค่ะ   เป็น แบบที่ภาษาวัยรุ่น เรียกว่า อยู่เป็น นั่นเอง เวลาไปโรงเรียนครั้งแรกน้องนกแก้วก็อาจจะถามคำถามเยอะหน่อยนะคะ  เช่นประโยคคำถามที่เป็นยอดฮิตคือ  ใคร ทำอะไร ที่ไหน เมื่อไหร่ อย่างไรคะคุณแม่ ประโยคคำถามเหล่านี้บางทีไม่ต้องการคำตอบค่ะ เพราะในความเป็นจริงแล้วเมื่อไปอยู่ในสถานการณ์จริงคือที่โรงเรียนจริงน้องก็จะรู้เองค่ะว่าใคร ทำอะไร ที่ไหน เมื่อไหร่ อย่างไรเพราะวิธีการของนกแก้วคือการสังเกตคนรอบตัวก่อนเสมอค่ะ เขาจะได้ไม่ทำอะไรที่แตกต่าง   ความสามารถในการกลมกลืนเข้ากับสังคมรอบข้างได้นี้เป็นธรรมชาติที่ติดตัวมาโดยกำเนิดของน้องนกแก้วค่ะ  จึงเป็นลูกนกที่คุณพ่อคุณแม่ทั้งหลายสบายใจที่สุดเพราะ ไม่ต้องเตรียมตัวอะไรเลยค่ะ

เมื่อเราเข้าใจธรรมชาติของลูกนกทั้งห้าชนิดแล้วก็จะต้องมาถึงคำถามสุดท้ายค่ะว่าคุณพ่อคุณแม่ทั้งหลายทราบอย่างชัดเจนแล้วหรือยังคะว่าลูกนกของเราเป็นลูกนกสายพันธุ์ไหน    ที่กล่าวมาข้างต้นเป็นเพียงสายพันธุ์เดียวคือชนิดใดชนิดหนึ่งเท่านั้น แต่ถ้าลูกนกของเราเป็นสายพันธุ์ผสมสองตัว สามตัว หรือสี่ตัวก็จะมีความยุ่งยากมากขึ้นนะคะในการจัดการ  ซึ่งถ้าเกิดกรณีนี้จริง ๆ ไม่รู้จะจัดการอย่างไร  ไม่ต้องตกใจค่ะสอบถามกลับมาที่นักวิเคราะห์ที่ทำการวิเคราะห์ได้ค่ะ หรือจะมาขอฟังผลอีกครั้งก็ได้เพื่อความชัดเจนมากยิ่งขึ้นซึ่งทางศูนย์ ฯ ยินดีอย่างยิ่งค่ะ

บทความโดย  อุมาพร บรรจงศร (นักวิเคราะห์ศักยภาพ P-PAC)

อ่านบทความอื่นๆ Click link

Leave a comment