ก็แค่มุมมองที่แตกต่าง
คุณเคยเจอคนที่ “ไม่ว่าใครจะพูดอะไร ก็ขอฉันเห็นต่างหน่อยได้ไหม” หรือเปล่าคะ? รู้สึกสื่อสารด้วยยากเหลือเกิน ใครเสนออะไร บางครั้งก็ชอบที่จะแตกต่าง คิดอะไรแปลกๆและบางครั้งก็รู้สึกว่าเขาตั้งใจจะกวนเราอยู่หรือเปล่านะ? คุณแม่หลายบ้านก็เคยเล่าให้นักวิเคราะห์ฟังแบบนี้ค่ะ แต่จริง ๆ แล้วเขาเหล่านั้นอาจจะไม่ได้ตั้งใจที่จะขัดแย้ง หรือกวนเราก็ได้นะคะ เพราะที่ P-PAC มีการเรียนรู้ลักษณะหนึ่งที่เรียกว่า Reversal thinking style
คนที่มีลักษณะการเรียนรู้แบบนี้ เขาจะมีลักษณะของการที่ชอบการคิดแตกต่างโดยธรรมชาติ เขามีมุมมองความคิดที่ไม่เหมือนใคร บางคนอาจจะมีเป้าหมายที่แตกต่าง เช่น เวลาที่คุณครูให้ระบายสีช้าง
เด็ก ๆ ส่วนใหญ่อาจจะชอบระบายสีสันที่สดใส แต่เด็กบางคนอาจจะระบายสีดำ
คุณครูก็อาจจะรู้สึกแปลก ๆ หรือในกรณีที่แย่ไปกว่านั้นอาจคิดว่าเขามีปัญหา หรือปมบางอย่างในใจหรือเปล่า
ในความจริงนั้น แค่เราเข้าใจคนที่มีการเรียนรู้ลักษณะแบบนี้ เราอาจจะพบมุมมองใหม่ ๆ พบว่าเขามีความสร้างสรรค์มาก ๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของแนวคิด วิธีการทำงาน วิธีการแก้ปัญหา แต่คนใกล้ชิดต้องเปิดใจให้กว้าง ๆ เปิดโอกาสให้เขาได้ลองคิด ลองทำ เราจะพบว่าเขายังสามารถทำอะไรจากแนวคิดไม่เหมือนใครนี้ได้อีกมากมาย โดยเฉพาะกับเด็ก ๆ แล้ว
จากตัวอย่างเมื่อสักครู่ เมื่อคุณครูถามเขาว่า ทำไมช้างของเขาถึงเป็นสีดำทั้งตัวแบบนั้น?
เขาตอบคุณครูไปว่า “ช้างมันเดินตกโคลนครับ” เรื่องนี้กลับกลายเป็นเรื่องตลกไป เขาเป็นแค่เด็กที่มีจินตนาการ และอารมณ์ขันเท่านั้นเอง
ในทางตรงกันข้าม ถ้าเราไม่เข้าใจ พยายามตีกรอบ หรือบางครั้งไม่ยอมรับ และวิจารณ์แนวคิดของเขาบ่อย ๆ สิ่งเหล่านี้อาจจะทำให้เขาหมดกำลังใจ บางรายที่เจอ เขาเลือกที่จะเก็บความพิเศษของเขาไว้ เพียงเพราะไม่อยากแปลกแยก และไม่ได้รับการยอมรับเพียงเพราะเขาไม่เหมือนคนอื่น มันเป็นเรื่องที่น่าเสียดายที่ความพิเศษนี้ไม่ถูกนำมาใช้นะคะ ลองเปิดใจ แล้วมองโลกในอีกด้าน บางครั้งลองถามว่าทำไมเขาถึงคิดแบบนั้น เราอาจจะพบว่ามันมีแนวทางใหม่ ๆ เส้นทางใหม่ ๆ ซึ่งไม่แน่ว่าอาจจะดีกว่าอะไรเดิม ๆ ที่เรา ๆ คิดว่าดีอยู่แล้วก็ได้นะคะ
คนใกล้ตัวใครเป็นแบบนี้บ้างคะ? ลองแบ่งปันประสบการณ์กันได้นะคะ
โดยพี่ตุ๊ก พัชรี นิลประทีป นักวิเคราะห์ศักยภาพ P-PAC
บทความอื่นๆ Click link