รู้จักลูกผ่านแผนที่พรสวรรค์ (นิ้วโป้งซ้าย ขวา) ต่อ
หลังจากที่เราทราบแล้วว่าแผนที่นิ้วโป้งซ้ายและขวา สะท้อนพรสวรรค์และแนวโน้มพฤติกรรมอะไรบ้าง เรามาลองดูให้รู้ลึกกันลงไปอีกว่า หากส่วนผสมของทั้งสองส่วนมีความแตกต่างกันในหลายรูปแบบจะมีผลต่อแนวโน้มพฤติกรรมอย่างไร ผู้เกี่ยวข้องควรเข้าใจและให้การดูแลอย่างไรบ้าง
(นิ้วโป้งซ้าย แผนที่ศักยภาพด้านการริเริ่มและควบคุมเป้าหมาย นิ้วโป้งขวา แผนที่ศักยภาพด้านการเข้าใจและควบคุมตนเอง)
กรณีที่ 1 ศักยภาพทั้งสองแข็งแรงมาก
เด็กหรือคน ๆ นั้นจะแสดงออกถึงการมีความคิดเป็นของตนเองสูง ความกล้า ความมุ่งมั่นในการเอาชนะอุปสรรค ตอบรับความท้าทายได้ดี ความสามารถด้านการจัดการ (โดยเฉพาะเมื่อสนใจหรือยอมรับสิ่งนั้น) สรุปว่ามีต้นทุนภาวะผู้นำโดดเด่น เหลือเพียงต้องผ่านบทเรียนและประสบการณ์ตรงเพื่อเรียนรู้การเป็นผู้นำที่ดีต่อไป ผู้ใหญ่มักจะมีความรู้สึกตรงข้ามว่า ดื้อ พูดคุยด้วยยาก ธรรมชาติของเด็กลักษณะนี้จึงเปรียบเสมือนผู้ใหญ่ในร่างเด็ก เพียงแต่ในเวลานี้เขาต้องการอิสรภาพในการทดลองสิ่งต่าง ๆได้เรียนรู้โดยตรงด้วยตนเองว่าสิ่งนี้ถูก สิ่งนั้นผิด ซึ่งหลุมพรางของปัญหาที่ผู้ปกครองไม่เข้าใจ คือ พยายามชี้นำด้วยความหวังดีให้เด็กใช้ประสบการณ์ที่ผู้ใหญ่ผ่านมาแล้ว แน่นอนว่าไม่ว่าประสบการณ์นั้นถูกหรือผิดแต่เด็กจะไม่ชอบใจ รู้สึกอึดอัด เพราะต้องการที่จะใช้ความคิดความเข้าใจของตนเองเพื่อทดลองและเรียนรู้ ไม่ใช่จำสิ่งที่ผู้ใหญ่มอบให้โดยยังไม่มีแรงบันดาลใจต่อสิ่งนั้น โดยสรุปจะเห็นว่าเด็กกลุ่มนี้ ใช้ใจเป็นใหญ่ ผู้ใหญ่ที่จะดูแลเด็กแบบนี้ต้องใช้จิตวิทยาเสมือนเด็กเหล่านี้เป็นผู้ใหญ่ด้วย โดยให้สิทธิ์ร่วมคิด ร่วมเสนอ มีสิทธิ์โต้แย้ง ร่วมปฏิบัติ และร่วมรับผิดชอบ การเรียนรู้อย่างเต็มใจก็จะเกิดในกระบวนการนี้นั่นเอง ที่เราเคยได้ยินบ่อย ๆ ว่าผู้ใหญ่ต้องเน้นการจัดสภาพแวดล้อมให้ปรับตามเด็ก ไม่ใช่จับเด็กใส่กรอบที่เตรียมไว้ พึงระลึกว่ากระบวนการนี้ต้องใช้เวลาและไม่สามารถรับประกันผลสำเร็จ แต่จะสามารถกระตุ้นให้เด็กยอมร่วมมือที่จะเรียนรู้ รับผิดชอบและพัฒนาตนเองไปพร้อม ๆ กับการค้นหาเป้าหมายที่ตนเองจะไป พลังของเด็กกลุ่มนี้ คือ เมื่อไหร่ได้เป้าหมายที่เกิดจากแรงบันดาลใจของเอง เขาจะแสดงความมุ่งมั่น ศึกษา จัดการ ปรับตัว พัฒนาตัวและกลายเป็นคนที่มีวุฒิภาวะสูงขึ้น โดยที่ผู้ใหญ่ไม่ต้องไปผลักดันแค่ทำหน้าที่เป็นผู้สนับสนุนและให้คำปรึกษา ให้กำลังใจเท่านั้น
กรณีที่ 2 ศักยภาพทั้งสองด้านไม่สูง
หรือเรียกว่าอยู่ลำดับท้าย ๆ ของเด็กคนนั้น ศักยภาพด้านการริเริ่มและการควบคุมตนเองไม่สูง จะทำให้เด็กมีแนวโน้มพฤติกรรมที่ว่านอนสอนง่าย ทำตามคำสั่งระเบียบได้ดีมีความเสียสละ เป็นมิตร เห็นอกเห็นใจผู้อื่น มีจิตอาสา เพียงแต่แสดงออกไม่เก่ง ทำให้ธรรมชาติของเด็กต้องการได้รับคำสั่ง หรือการมอบหมายให้ชัดเจน คือมีกระบวนการและขั้นตอนวิธีการปฏิบัติเพื่อเป็นแนวทางให้ทำตามได้ถูกต้องเด็กก็จะเรียนรู้ได้ไม่ยาก เด็กที่มีธรรมชาติอ่อนโยนเป็นฝ่ายตั้งรับ ต้องการต้นแบบที่ดีกำหนดสิ่งที่จะให้ฝึกฝนและช่วยดูแลรายละเอียดการฝึกฝนให้ชัดเจน เมื่อปฏิบัติซ้ำจะสร้างความเป็นระเบียบวินัยไม่ยาก เพียงแค่เน้นการดูแลจิตใจว่าเมื่อพบปัญหาใด ๆ กับสังคมที่อยู่ร่วมก็คอยแนะนำวิธีการรับมือหรือวิธีการแก้ปัญหาควบคู่กับการปลูกฝังทัศนคติเชิงบวกในเรื่องต่าง ๆ ให้ทำตามจนเคยชิน ต่อไปเด็กจะเริ่มพัฒนาต่อยอดได้ดีขึ้นเองตามวัยและประสบการณ์
อย่างไรก็ดีความไม่ถนัดในการรู้จักเป้าหมายหรือความต้องการของตนเองยังคงเป็นธรรมชาติของเขา ดังนั้นจุดเน้น คือ หาศักยภาพที่จะพัฒนาให้มีความชำนาญเพื่อเรียนหรือทำเป็นอาชีพ กลุ่มนี้จะทำงานซ้ำ ๆ กลายเป็นความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านที่ใช้ประกอบอาชีพได้ดี เหมาะกับงานด้านสนับสนุนหรือปฏิบัติการ แต่ไม่ถนัดมากนักกับสภาพแวดล้อมที่ต้องรับแรงกดดันทางสังคม อารมณ์ความรู้สึกต่อเนื่องเป็นเวลายาวนาน ปัจจัยด้านสังคมที่อบอุ่นดูแลจิตใจจึงเป็นปัจจัยสำคัญในการพัฒนาควบคู่กับกระบวนการทำงานคุณภาพ ก็จะพัฒนาให้เด็กกลุ่มนี้กลายเป็นทรัพยากรมนุษย์ที่มีคุณภาพและวินัยได้ไม่ยากเลย
บทความอื่นๆ Click link