5ภาษารักและรูปแบบการเลี้ยงดูลูก ตอนที่1
(The Five Love Languages)
ภาษารักของลูกคืออะไร? คุณพ่อคุณแม่จะแสดงความรักต่อลูกอย่างไร?
The Five Love Languages 5 ภาษารัก
เป็นทฤษฎีของ Dr. Gary Chapman ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านความรักความสัมพันธ์ ชีวิตครอบครัวและการพัฒนาเด็ก Dr. Chapman ได้อุทิศเวลาหลายปีในการเสริมสร้างความสัมพันธ์ในครอบครัวเพื่อให้ทุกความสัมพันธ์เป็นความสัมพันธ์ที่ยั่งยืน เพราะผู้คนต่างมีบุคลิกที่แตกต่างกัน มีวิธีในการแสดงออกความรู้สึกรักที่แต่ละคนมีการเรียนรู้ ความชอบที่แตกต่างกันออกไปในการแสดงความรู้สึกรักและใส่ใจ ซึ่งแน่นอนว่านั่นหมายถึงการเรียนรู้ภาษารักระหว่างคุณพ่อคุณแม่และลูกด้วยนั่นเอง ซึ่งหากภาษารักของลูกไม่เหมือนกับภาษารักของคุณพ่อคุณแม่ ลูกอาจไม่รู้สึกถึงความรักที่เรามอบให้หรือไม่ได้มองว่าเราเป็นคุณพ่อคุณแม่ที่รักพวกเขาจริง ๆ เพราะลูกอาจจะต้องการแสดงความรักอีกแบบหนึ่ง ในขณะที่คุณพ่อคุณแม่แสดงออกความรักอีกแบบหนึ่ง อันจะนำไปสู่การไม่เข้าใจกัน หรือความขัดแย้งในที่สุด
Dr. Chapman กำหนดแนวคิดภาษารัก (love languages) ซึ่งแบ่งออกเป็น 5 รูปแบบ ดังนี้
1. Words of Affirmation (#สื่อภาษารักผ่านคำพูด)
2. Quality Time (สื่อภาษารักผ่านการใช้เวลาอยู่ร่วมกัน)
3. Physical Touch (สื่อภาษารักผ่านการสัมผัส)
4. Acts of Service (สื่อภาษารักผ่านการทำอะไรดี ๆ ให้)
5. Receiving Gifts (สื่อภาษารักผ่านการมอบของขวัญ)
วันนี้เราจะมาทำความเข้าใจกับภาษารักทั้ง 5 ซึ่งจะทำให้คุณพ่อคุณแม่เข้าใจความรู้สึก ความต้องการของลูก และเราจะสามารถมอบความรักได้ตรงใจกับลูกได้มากขึ้นนะคะ
1. Words of Affirmation (สื่อภาษารักผ่านคำพูด)
คือการแสดงความรักด้วยการพูด เช่น การพูดว่า แม่รักลูกนะ พ่อรักลูกนะ เพราะลูกต้องการการแสดงความรักด้วยการ “ได้ยิน” คำว่ารัก ซึ่งคุณพ่อคุณแม่ต้องพูดออกมาจากใจและความรู้สึกจริง ๆ ลูกถึงจะรับรู้ได้ เด็กแต่ละคนมักจะชอบภาษารักเหล่านี้
อย่างไรก็ตาม เมื่อลูกไม่เคยได้ยินภาษารักที่พวกเขาชอบ ลูกอาจรู้สึกว่า “พ่อแม่รักน้อยลง” สิ่งนี้ทำให้เกิดคำถามสำคัญว่า เราใช้ภาษารักที่ถูกต้องกับลูกของเราหรือไม่?
เพราะการบอกรักเป็นหนึ่งในภาษารัก และสำหรับลูกที่ชอบภาษารักแบบนี้ การได้ยินคำพูดที่ดีสามารถกระตุ้นและเติมพลังได้อย่างดีเยี่ยม ให้ลูกรู้ว่าคุณพ่อคุณแม่รักและห่วงใยพวกเขา ดังนั้นจึงเป็นสิ่งสำคัญที่คุณพ่อคุณแม่จะต้องเข้าใจภาษารักของลูก และเมื่อคุณพ่อคุณแม่ทราบแล้วจะสามารถเลือกรูปแบบการเลี้ยงดูที่เหมาะสมได้
หากลูกชอบภาษารักผ่านคำพูด นี่คือกลยุทธ์ในการแสดงความรักของคุณพ่อคุณแม่
1. พูดว่า “แม่รักลูก” “พ่อรักลูก” อย่างเด่นชัดและบ่อยครั้ง ลูกจะประทับใจกับคำที่ทรงพลังเหล่านี้เสมอ อย่าหวงคำว่ารักกับการแสดงออกของคุณพ่อคุณแม่
2. เรียนรู้ที่จะพูดว่า “ขอโทษ” เพราะพ่อแม่ไม่เคยสมบูรณ์แบบ และอาจจะมีช่วงเวลาที่คำพูดหรือการกระทำของเราทำให้ลูกเสียใจ การขอโทษและยอมรับว่าคุณพ่อคุณแม่ทำผิดพลาดจะสร้างความแตกต่างอย่างมาก
3. ชมเชยลูกบ่อย ๆ และไม่ชมเชยที่ผลลัพธ์แต่ให้ชมเชยถึงความพยายาม สังเกตความสำเร็จของลูกและรับรู้ด้วยใจจริง
4. เขียนโน้ตหรือจดหมายรัก เพราะคำพูดไม่ได้เป็นแค่คำพูด คุณพ่อคุณแม่สามารถเขียนได้ และลูกจะประทับใจกับสิ่งเหล่านั้น เช่น คุณพ่อคุณแม่สามารถเขียนข้อความให้กำลังใจ จดหมายรักน่ารัก ๆ หรือคำชมเชยลงในกล่องดินสอ หรือจะเก็บไว้ในลิ้นชัก กระเป๋านักเรียน หรือที่ใดก็ตามที่ลูกจะเจอ
5.พูดคุยกับลูกอย่างจริงใจ บทสนทนาสั้น ๆ และเรียบง่ายสามารถแสดงให้เห็นว่าคุณพ่อคุณแม่ใส่ใจมากแค่ไหน และเมื่อคุณพ่อคุณแม่พูดคุย ให้มุ่งความสนใจไปที่ลูก ไม่ควรพูดบ่นว่าคุณพ่อคุณแม่ยุ่งกับการจัดการเรื่องต่าง ๆ ให้พวกเขามากแค่ไหน
สิ่งที่คุณพ่อคุณแม่ควรหลีกเลี่ยงคือ
ใช้คำพูดที่ทำให้ลูกท้อใจ เพราะอาจจะทำให้ปัญหาตึงเครียดขึ้นแทนที่จะช่วยแก้ปัญหาหรือหาทางออกร่วมกัน ควรเลือกคำพูดอย่างระมัดระวัง
ไม่ควรบอกว่า แม่ไม่สนใจ มีหลายครั้งที่ความไม่สนใจ ความละเลยของเราสามารถพุ่งเข้าใส่หัวใจของลูกได้เหมือนมีดบาด
หลีกเลี่ยงการพูดว่ารุนแรงและดุด่าว่าลูก แต่ให้ใช้คำพูดที่ให้ผลดีและให้กำลังใจแทน
ไม่เคยพูดว่า “แม่รักลูก” เพราะไม่ว่าลูกจะยังเป็นเด็กเล็กหรือผู้ใหญ่ คุณพ่อคุณแม่ไม่จำเป็นต้องหยุดแสดงความรักกับลูก หรือพูดคำว่า “เดี๋ยวแม่ไม่รักนะ”
เพราะการพูดขู่หรือพูดประชดประชันอาจทำให้บั่นทอนความรู้สึก และความเชื่อมั่นของลูก ลูกจะรู้สึกไม่แน่ใจว่าตกลงพ่อแม่ยังรักเขาหรือเปล่า
อย่าลืมนะคะ ไม่ว่าภาษารักของลูกจะเป็นการบอกรักหรือไม่ก็ตาม ให้ชมเชยคุณสมบัติที่ดีที่สุดของพวกเขาและบอกพวกเขาว่าคุณพ่อคุณแม่รักพวกเขาอย่างต่อเนื่อง ทำทุกวิถีทางเพื่อแสดงให้ลูกเห็นถึงความห่วงใยและคุณพ่อคุณแม่จะอยู่เคียงข้างพวกเขา เด็ก ๆ จะมีความมั่นใจว่าพวกเขาไม่ได้อยู่คนเดียวและเป็นที่รักของคุณพ่อคุณแม่ด้วย