การสร้างแรงจูงใจในการเรียนรู้ของเด็ก 5 บุคลิก
การที่เด็กจะประสบความสำเร็จในการเรียนรู้นั้นจำเป็นต้องมีปัจจัยหลายประการ หนึ่งในปัจจัยสำคัญในการช่วยส่งเสริมการเรียนรู้ คือ การสร้างแรงจูงใจในการเรียนให้เกิดขึ้นกับเด็ก
แต่ทั้งนี้ครูและผู้ปกครองจะต้องทำความเข้าใจใน แต่ละบุคลิกของเด็กที่มีความแตกต่างกัน วิธีการในการสร้างแรงจูงใจของเด็กแต่ละแบบอาจจะต้องเลือกใช้ให้เหมาะสม เพื่อทำให้เกิดความสนใจเรียนรู้ของเด็ก ลองมาดูกันนะคะว่า เด็ก 5 แบบ ที่นำมาฝากในบทความนี้ต้องสร้างแรงจูงใจในการเรียนรู้อย่างไรบ้างคะ
แรงจูงใจในการเรียนรู้ของเด็ก 5 บุคลิก
- บุคลิกแบบนักแบ่งปัน เป็นเด็กที่มีชอบในการสร้างมนุษยสัมพันธ์กับผู้อื่น ชอบการสื่อสาร สร้างบรรยากาศ และชอบอยู่ในสภาพแวดล้อมที่สนุกสนาน มีความสามารถในการเข้าสังคม ชอบในการทำกิจกรรมสังสรรค์ สร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้ตนเอง มีเสน่ห์ หวังว่าจะอยู่ในจุดที่ได้รับความสนใจตลอดไป ชอบแลกเปลี่ยนความคิดเห็น เสริมสร้างศักยภาพในการโน้มน้าวใจผู้อื่นด้วยการสร้างแรงบันดาลใจให้คนอื่นเห็นด้วยและทำตาม ให้ความสนใจในการเปลี่ยนแปลงของสิ่งรอบตัว ให้ความสำคัญกับแฟชั่น และค่อนข้างมีความทันสมัย ชอบความแปลกใหม่ สวยงาม การสร้างแรงจูงใจในการเรียนรู้ของบุคลิกแบบนักแบ่งปัน คือ การพาเด็กไปเจอสิ่งแวดล้อมในการเรียนรู้ใหม่ ๆ ไม่จำเจ น่าเบื่อ การสร้างบรรยากาศในการเรียนรู้สนุกสนาน มีสีสัน มีชีวิตชีวา บรรยากาศในการเรียนที่ไม่กดดัน หลีกเลี่ยงการดุ ตำหนิ ตรง ๆ หรือท่ามกลางสายตาของกลุ่มคน การให้เด็กได้แสดงความเป็นตัวของตัวเอง ชื่นชม ยอมรับ สนับสนุน ให้รางวัล ในวัยเรียนควรที่จะให้เด็กมีโอกาสได้ร่วมกิจกรรมในสังคมให้มาก มีโอกาสได้เจอคนจำนวนมาก สร้างโอกาสให้เด็กได้แบ่งปันผู้อื่น การได้มีเวทีในการนำเสนอตัวเอง แต่ควรส่งเสริมให้เด็กมีความเชี่ยวชาญและมีความมั่นใจในความสามารถของตัวเองก่อน จึงผลักดันให้ขึ้นเวทีที่เป็นสาธารณะ
- บุคลิกแบบบูรณาการ เป็นเด็กที่ไม่มีความชัดเจนว่าอะไรเป็นแรงผลักดันสู่ความสำเร็จ แต่จะมีความกระตือรือร้นสนใจที่จะเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ มีความสนใจในหลากหลายด้าน และมักจะมีหลายเป้าหมายพร้อมกัน สนใจที่จะศึกษาสิ่งแปลกใหม่ มีความสามารถในการบูรณาการข้อมูลในวงกว้าง หากให้ความสนใจในการศึกษาเรียนรู้อย่างต่อเนื่องในเรื่องใดก็จะสามารถเป็นคนที่มีความเชี่ยวชาญซึ่งมีโอกาสเป็นได้ในหลากหลายด้าน สำหรับในด้านที่ถนัดแล้วจะมีความมั่นใจ กระตือรือร้น กล้าแสดงออก ในขณะเดียวกันยังมีความยืดหยุ่นและทักษะในการปรับตัวให้เข้ากับสิ่งแวดล้อมใหม่ ๆ มักจะใช้ความคิดเชื่อมโยงวิเคราะห์ข้อมูลอย่างรอบด้าน โดดเด่นในการปรับตัวและใช้วิธีการประนีประนอมเวลาประสานงาน หรือทำงานร่วมกับกลุ่มเพื่อน การสร้างแรงจูงใจในการเรียนรู้ของบุคลิกแบบบูรณาการ คือ การจัดหาทรัพยากรในการเรียนรู้ เปิดโอกาสให้มีการแลกเปลี่ยนในการเรียนรู้ และแสดงความคิดเห็น พาไปดูกิจกรรมใหม่ ๆ ให้ทางเลือกในการตัดสินใจ ชวนคิดชวนคุย พร้อมสนับสนุนเมื่อต้องการ สร้างโอกาสในการเรียนรู้ประสบการณ์ใหม่ ๆ แต่อย่าลืมการฝึกกำหนดเป้าหมาย การวางแผนงานอย่างเป็นระบบ กำหนดกรอบเวลา และการลงมือทำให้เกิดเป็นทักษะที่เชี่ยวชาญ สุดท้ายฝึกให้เด็กได้ทบทวนเพื่อยืนยันหรือตระหนักรู้ว่าความสำเร็จที่ได้มานั้นเป็นเพราะตัวเขามีความมุ่งมั่น อดทน และบริหารเวลาได้ดี
- บุคลิกแบบผู้เชี่ยวชาญ มักเป็นเด็กที่มีกรอบความคิดแบบเป็นเหตุ – ผล ของตนเอง มีความระมัดระวังตัวสูง มีลักษณะชอบความสันโดษ (Introvert) ชอบการใช้ความคิดถึงเหตุและผลของเรื่องราวต่างๆ อยู่กับตัวเอง ค่อนข้างให้ความสำคัญกับความรู้ความเข้าใจเชิงลึก จะใช้ความคิดพิจารณาตัดสินเรื่องราวต่างๆ ว่าเป็นเรื่องถูกต้องหรือผิด ทำตามกฏระเบียบของสังคม เคารพในกฎเกณฑ์ ไม่ชอบทำผิดกฎระเบียบ สามารถทำงานเป็นทีมได้ แต่เด็กบางคนถ้ายึดถือความคิดเห็นของตนเองหรือความเป็นมืออาชีพมากจนเกินไปจะทำให้เกิดนิสัยชอบวิพากษ์วิจารณ์ได้ง่าย หากได้รับมอบหมายหน้าที่ให้ทำงานใดจะสามารถทำตามแผนงานและกระบวนการทีละลำดับจนสำเร็จ มีแนวโน้มที่จะพึ่งแต่ความสามารถของตนเองเพื่อที่จะทำงานให้สำเร็จและคุณภาพตามเป้าหมายที่วางไว้ มีระเบียบวินัยในตนเองสูง ในการเรียนจะทำตามกระบวนการขั้นตอนที่ตนเองวางไว้เพื่อให้ถึงเป้าหมายที่กำหนด ให้ความสำคัญกับความเป็นมืออาชีพและคุณภาพ เมื่อโตขึ้นมักจะกลายเป็นผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านซึ่งจะนำมาซึ่งความสำเร็จและได้รับการยอมรับในสังคม การสร้างแรงจูงใจในการเรียนรู้ของบุคลิกแบบผู้เชี่ยวชาญ คือ การเตรียมความพร้อมโดยการพูดคุยให้ข้อมูล ให้เวลาในการเตรียมตัว พาไปดูของจริง เปิดโอกาสในการซัก-ถาม รับฟังความคิด ไม่ตัดสินหรือยัดเยียดความคิด ให้ข้อมูลที่ถูกต้อง ไม่กดดัน พูดคุยทบทวนความเข้าใจ ความต้องการร่วมกัน ตั้งกฎ กติกา หาแนวทางการปฏิบัติ เด็กมีนิสัยที่จะขวนขวายพัฒนาตนเองอย่างสม่ำเสมออยู่แล้ว ผู้ปกครองไม่ควรที่จะเรียกร้องในเรื่องการเรียนของเด็กมากจนเกินไป ผู้ปกครองและคนรอบข้างควรให้ความเคารพและทำความเข้าใจในความคิดเห็นของเขา เวลาที่ทำสิ่งใดแล้วเกิดอุปสรรคปัญหา มักจะคิดวกวนหมกมุ่นอยู่ในปัญหา ดังนั้นคนรอบข้างจึงควรจะช่วยด้วยการเป็นที่ปรึกษา คอยแนะนำ เพื่อให้ลดความกดดันในใจ อีกทั้งช่วยเป็นแบบอย่างในการพัฒนาทักษะการแก้ปัญหา
- บุคลิกแบบผู้ควบคุม เป็นเด็กที่มีความเป็นตัวของตัวเองสูง เชื่อมั่นในความคิดของตัวเอง ต้องการอิสระในการคิดและการตัดสินใจด้วยตนเองได้ ไม่ชอบอยู่ภายใต้การควบคุม หรือถูกออกคำสั่ง มีความต้องการประสบความสำเร็จเป็นตัวผลักดันในการทำสิ่งต่าง ๆ เด็กกลุ่มนี้มีความสามารถ ทั้งในด้านบุ๋นและบู๊ ให้ความสำคัญกับพลังและอำนาจของตัวเอง แต่เวลาที่ทำงานเพื่อให้ไปถึงเป้าหมายนั้น จะมุ่งมั่นอดทนทำเพื่อให้ถึงเป้าหมายที่ตั้งไว้ สามารถเป็นผู้ที่สร้างกลุ่มและทีมงาน เวลาที่ตั้งเป้าหมายจะตั้งเป้าหมายที่สูงและพยายามผลักดันให้สมาชิกในทีมพัฒนาความสามารถเพื่อไปให้ถึงเป้าหมายนั้นการสร้างแรงจูงใจในการเรียนรู้ของบุคลิกแบบผู้ควบคุมนั้น ผู้ปกครองควรช่วยจัดสิ่งแวดล้อมที่มีความเชื่อมโยง กับสิ่งที่เด็กสนใจเรียนรู้ ให้เด็กมีส่วนร่วมในการตัดสินใจแทนที่ผู้ปกครองจะเป็นผู้ออกคำสั่ง การให้โอกาสเด็กตัดสินใจสามารถทำได้ เช่น ในหัวข้อหนึ่ง เด็กสามารถเลือกได้ภายใต้ข้อกำหนด เมื่อตนเองตัดสินใจแล้วมักจะมีความรับผิดชอบ ในสิ่งที่ตนเองตัดสินใจและมุ่งมั่นทำจนงานนั้นสำเร็จ การเรียนเป็นการพัฒนาให้ดีขึ้น ดังนั้นจำเป็นต้องให้รางวัลที่จับต้องได้กับเด็กบ้าง หรืออาจมีข้อตกลงในผลลัพธ์ที่เด็กอยากได้ เวลาที่เด็กประสบปัญหาในการเรียนทั้งครูและผู้ปกครองจำเป็นต้องระลึกอยู่เสมอว่าก่อนที่จะแก้ไขสิ่งที่เป็นปัญหาจำเป็นต้องแก้ไขปัญหาที่อารมณ์และจิตใจก่อน เมื่อภาวะทางอารมณ์และจิตใจนิ่งแล้วเด็กจะมีสภาวะที่พร้อมในการเปิดรับการเรียนรู้และพัฒนาสิ่งต่างๆ
- บุคลิกแบบผู้ตาม เป็นเด็กไม่ค่อยมีความเชื่อมั่นในตนเอง มีแรงผลักดันในตนเองน้อย มักคล้อยตามผู้อื่นได้ง่าย ชอบอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่คุ้นเคย กลุ่มคนที่คุ้นเคย ไม่ค่อยชอบการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็ว ใช้เวลาในการปรับตัวนาน แต่เป็นเด็กที่ใช้ความตั้งใจที่แน่วแน่ในการทำให้บรรลุเป้าหมาย ใช้ความอดทนทำให้งานตามที่ได้รับมอบหมายสำเร็จ มีความใส่ใจในผู้อื่นสูง มีลักษณะเด่นในการชอบช่วยเหลือผู้อื่น เข้ากับผู้อื่นได้ดี มีเพื่อน เพื่อนจำนวนมากในทุกที่ สามารถที่จะสร้างเครือข่ายความสัมพันธ์ในระยะยาวกับผู้อื่น แต่ก็จะอิงกลุ่มอิงทีม ไม่ค่อยมีความเป็นตัวของตัวเอง
การสร้างแรงจูงใจในการเรียนรู้ของบุคลิกแบบผู้ตามนั้น ถ้าได้รับการแนะแนวที่เหมาะสมจะสามารถพัฒนาศักยภาพการเรียนรู้ได้ดีมาก เมื่อทำงานในที่ใดที่หนึ่งเป็นเวลานาน จะทำให้สามารถทำงานได้มีประสิทธิภาพและมีความรู้ความเชี่ยวชาญ เพราะมักจะมีนิสัยทำตามผู้อื่นจึงจำเป็นที่ต้องคอยแนะนำ ซึ่งควรเลือกที่จะแนะนำในเวลาที่เหมาะสมไม่จำเป็นต้องบังคับควบคุมตลอดเวลา อีกทั้งควรช่วยแนะนำในการวางแผนการเรียนรวมถึงการร่วมกิจกรรม เวลาที่เรียนหนังสือควรจะมีคนต้นแบบเป็นตัวอย่างในการเรียน หรือมีเพื่อนเรียนอยู่ด้วย จะทำให้สร้างนิสัยการเรียนตามแบบอย่างที่ดีนั้นได้ง่าย เพื่อเป็นการสร้างแบบที่ดีให้กับเด็กทำตามในการเรียนหนังสือจำเป็นต้องใช้เวลานานในการทำความเข้าใจ ไม่เร่งรัดหรือกดดัน ให้เวลา เด็กบุคลิกนี้มีลักษณะเป็นเหมือนดังสุภาษิต “ระยะทางพิสูจน์ม้า” จึงไม่ควรที่จะเรียกร้องในเรื่องความเร็ว ควรเน้นการสอนโดยแสดงให้เห็นจริงและวิธีการให้เด็กมีการทดลองลงมือปฏิบัติ ควรช่วยให้เด็กสามารถปรับตัวคุ้นเคยกับวิชาที่เรียนให้ได้เร็ว เมื่อเด็กมีความคุ้นเคยแล้วจะสามารถพัฒนาศักยภาพและแข่งขันกับผู้อื่นได้
ขอฝากวิธีการสร้างแรงจูงใจในการเรียนรู้ของเด็กไว้กับคุณครูและคุณพ่อคุณแม่ เพื่อจะช่วยสร้างแรงจูงใจ ในการเรียนรู้ของเด็กๆ โดยเริ่มต้นจากความเข้าใจบุคลิกของเด็กแล้วใช้วิธีการสร้างแรงจูงใจที่เหมาะสมตามบุคลิก ก็จะสามารถช่วยพัฒนาเด็ก ๆ ให้เกิดความกระตือรือร้นในการเรียนรู้ เรียนรู้อย่างมีประสิทธิภาพ และเด็กจะเรียนรู้อย่างมีความสุขด้วยนะคะ
โดย พี่อ้อย พัชราภรณ์ คงสวัสดิ์ นักวิเคราะห์ศักยภาพ P-PAC
บทความอื่นๆ Click link