10 จุดอ่อนของลูก ๆ ที่พ่อแม่ต้องระวัง
ในความเป็นจริง ๆ แล้วสิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องธรรมชาติที่มีโอกาสเกิดขึ้นได้กับเด็กทุกคน แต่หากเด็กที่มีอาการเหล่านี้มากเกินไป จนเป็นอุปสรรคต่อการเรียนรู้ การเข้าสังคม ดูขาดความสุข ไม่เชื่อมั่นในตนเอง เก็บตัว คุณพ่อคุณแม่อาจต้องกลับมาทบทวนเพื่อหาทางแก้ไขหรือถ้ายังไม่เกิด คุณพ่อคุณแม่ก็อาจจะต้องเตรียมป้องกันไว้ก่อนได้นะคะ
คุณพ่อคุณแม่ทราบรึยังคะว่ามีจุดอ่อนอะไรที่ทำให้ลูกของเราไม่มีความสุขและไม่กล้าแสดงตัวตนออกมาให้เห็นในเวทีต่าง ๆ วันนี้พี่อ้อยมาชวนคุณพ่อคุณแม่สังเกตสัญญาณจากลูกน้อยกันค่ะ หากคุณพ่อคุณแม่เห็นสัญญาณเหล่านี้ ต้องรีบช่วยลูก ๆ ของเรากันนะคะ
1. ยึดติดกับความสำเร็จมาก
เด็กที่ต้องการคำชื่นชมตลอดเวลา ต้องการเป็นที่รู้จัก ต้องการชื่อเสียง และความสำเร็จเพื่อให้ได้รับการยอมรับและรู้สึกว่าตนเองมีคุณค่าในสายตาผู้อื่น ซึ่งเกิดจากการไม่เห็นคุณค่าภายในตนเอง จึงต้องเสริมความเชื่อมั่นโดยอาศัยความสำเร็จต่าง ๆ เป็นตัวการันตีคุณค่าของเรา
2. รู้สึกโดดเดี่ยว
เด็กที่รู้สึกว่าตนเองไม่เป็นที่ยอมรับ เข้ากับผู้อื่นไม่ได้ ทำให้เหงาและโดดเดี่ยว บางครั้งแสดงออกผ่านการเก็บตัวหรือความต้องการอยู่ใกล้ชิดกับเพื่อนตลอดเวลา เพราะไม่สามารถเป็นเพื่อนที่ดีให้กับตัวเองได้
3. ไม่ยอมรับข้อบกพร่องของตนเอง
เด็กที่มักหลีกเลี่ยงและไม่ยอมรับข้อบกพร่องของตัวเอง พยายามปลอบใจตัวเองด้วยข้อดีต่าง ๆ นานาจนบางครั้งอาจนำไปสู่อาการหลงตัวเองเพื่อให้ตัวเองรู้สึกดีอยู่ตลอด
4. กังวลกับภาพลักษณ์ของตัวเองมาก ๆ
เด็กที่แคร์สายตาผู้อื่น ห่วงภาพลักษณ์ของตัวเองมาก วิตกกังวลว่าผู้อื่นจะมองเราอย่างไร บางคนอาจถึงขั้นประเมินว่าคนอื่นจะให้คะแนนเราเท่าไหร่ อย่างไร จริง ๆ แล้วการแคร์ผู้อื่นบ้างเป็นเรื่องที่ดี เพราะแสดงถึงความใส่ใจและเห็นอกเห็นใจผู้อื่น แต่ถ้ามากเกินไปก็อาจทำให้เรารู้สึกขาดความมั่นคง หรือขาดความภูมิใจในตนเองได้
5. ไม่กล้าตัดสินใจ
เด็กที่รู้สึกกลัว กังวล คิดมาก ลังเล ไม่เชื่อมั่นในการตัดสินใจของตัวเอง รวมไปถึงกังวลกับผลที่จะตามมาจนไม่กล้าตัดสินใจลงมือทำอะไร
6. กลัวการเข้าสังคม
เด็กที่ไม่กล้าพูดคุยหรือแสดงความคิดเห็นเพราะกลัวถูกปฏิเสธ กลัวความผิดพลาด ในเด็กบางคนอาจเก็บตัว ไม่อยากพบเจอใคร หรือบางคนอาจตั้งตนเป็นปฏิปักษ์กับคนอื่น มีพฤติกรรมขวางโลกและมองผู้อื่นในแง่ลบ
7. กลัวความผิดพลาด ย้ำคิดย้ำทำ
เด็กที่กังวล มักคิดทบทวนและทำสิ่งเดิมอยู่ซ้ำ ๆ ตรวจสอบแล้วตรวจสอบอีกเพราะกลัวความผิดพลาด กลัวความไม่สมบูรณ์แบบ กลัวว่าความผิดพลาดจะทำให้ตนเองเสียความมั่นใจไปกว่าเดิม สิ่งเหล่านี้อาจนำไปสู่การหลีกเลี่ยงปัญหา ทำให้ปัญหาพอกพูนไปเรื่อย ๆ และนำไปสู่ความเครียดได้
8. พยายามเอาใจคนอื่นมากเกินไปและไม่กล้าปฏิเสธ
เด็กที่ยอมเป็นผู้ตามผู้อื่นมากเกินไป ไม่กล้าปฏิเสธคำขอ ไม่กล้าบอกความต้องการของตนเองตรง ๆ จนสูญเสียความเป็นตัวของตัวเองไป สาเหตุเพราะกลัวว่าจะแปลกแยกและไม่ได้รับการยอมรับจากผู้อื่น จนนำไปสู่การขาดความภูมิใจตนเองและไม่รู้ว่าตนเองต้องการอะไร
9. อ่อนไหวต่อคำวิพากษ์วิจารณ์มาก
เด็กที่มีอารมณ์อ่อนไหวง่ายเป็นพิเศษเมื่อได้รับคำวิจารณ์ในแง่ลบ ก็จะเก็บคำวิจารณ์เหล่านั้นมาคิดทบทวน ซ้ำแล้วซ้ำเล่าและคิดมาก อาจมีการแสดงออกทางอารมณ์ เช่น จิตตกได้ง่าย เศร้า เสียใจง่าย น้อยใจง่าย หรือโกรธ โมโห หงุดหงิดง่ายเมื่อได้รับการวิพากษ์วิจารณ์ อารมณ์ขึ้นลงบ่อย
10. มักเรียกร้องความสนใจมากเกินไป
เด็กที่แสวงหาความยอมรับ ความสนใจ และความรักจากผู้อื่น หมกมุ่นเกินไป ซึ่งอาจหมายความว่ากำลังขาดความมั่นใจและไม่เห็นคุณค่าในตนเอง จึงต้องแสวงหาจากการยอมรับจากคนรอบข้างมาชดเชย
ลองมาดูวิธีการที่จะช่วยพัฒนาให้ลูกมี Self-esteem กันดีกว่าค่ะ
หากเด็กที่มีความสนใจในหลายสิ่งหลายอย่าง หรือมีความสามารถหลายด้าน คุณพ่อคุณแม่ควรที่จะส่งเสริมให้เด็กได้เรียนรู้พัฒนาศักยภาพโดยวางแผนให้เด็กเรียนรู้ฝึกจนเชี่ยวชาญ(เก่ง) แล้วหาโอกาสให้เด็กได้มีเวทีในการนำเสนอ หรือลงแข่งขัน (ประกวด) และสามารถส่งเสริมให้ทำหลากหลายด้านได้แต่ต้องไม่ทิ้งกลางคัน
หากเด็กเป็นคนชอบแสดงความฉลาด มีความน่ารักสดใส และอยากที่จะแสดงความน่ารักมีเสน่ห์ของตนเองให้คนอื่นเห็น คุณพ่อคุณแม่ควรพยายามช่วยจัดหาโอกาสให้เด็กได้ร่วมกิจกรรมกับสังคม ให้เด็กได้มีปฏิสัมพันธ์กับคนอื่นบ่อย ๆ
ส่วนเด็กที่มีความคิดฝัน มีจินตนาการที่สดใส ผู้ใหญ่จึงควรจะรับฟังสิ่งที่เด็กแบ่งปัน และการที่คุณพ่อคุณแม่แสดงท่าทีเห็นด้วยกับความคิดของเด็ก จะช่วยให้ผู้ปกครองสามารถพัฒนาความสัมพันธ์ที่สนิทสนมกับเด็กได้
ผู้ปกครองควรช่วยสร้างโอกาสให้เด็กได้แสดงความสามารถในที่สาธารณะ อบรมและฝึกสอนให้เด็กมีทักษะในการแสดงออกพร้อมทั้งสร้างเสน่ห์ให้กับการแสดงต่อหน้าสาธารณชน
ส่งเสริมให้เด็กร่วมกิจกรรมของโรงเรียนและสังคม รวมทั้งสอนในเรื่องทักษะการวางแผนในการทำกิจกรรม รวมถึงการกำหนดเวลาในการลงมือทำ
ในกรณีเด็กมีความคิดหลากหลาย ทำให้อาจจะเกิดความผิดพลาดจากการตัดสินใจที่จะเปลี่ยนใจได้ง่าย ดังนั้นในช่วงวัยเรียนจึงจำเป็นต้องเสริมสร้างทักษะการทำงานจนบรรลุเป้าหมาย กำหนดเป้าหมาย วางแผนปฏิบัติ ฝึกการบริหารเวลา (สร้างวินัย)
สำหรับเด็กที่มีอารมณ์อ่อนไหวมาก ๆ ฝึกทักษะในการรู้เท่าทันตนเอง (Self-awareness) โดยการฝึกทบทวนอารมณ์ การตระหนักรู้ในตน ผู้ปกครองต้องหนักแน่นในการเรียกร้องให้เด็กเรียนรู้หรือทำสิ่งที่ตั้งเป้าหมายให้สำเร็จเสร็จสิ้น มิฉะนั้นจะเจอกับสภาวะที่เรียนหรือทำไปเพียงครึ่ง ๆ กลาง ๆ แล้วล้มเลิก ขณะเดียวกันต้องระวังมิให้เด็กรู้สึกเบื่อที่จะต้องทำกิจกรรมบางอย่างเพียงคนเดียว เพราะอาจจะเกิดผลต่ออารมณ์ในการเรียน ที่สำคัญคุณพ่อคุณแม่ต้องไม่ลืมการแสดงความชื่นชม การให้กำลังใจกับเด็กในช่วงเวลาแห่งการเรียนรู้และเสริมสร้างความอดทนให้เด็กคือ การสนับสนุนให้เด็กไปต่อในความยากลำบากนั้นด้วยความเข้าใจ
พี่อ้อยขอฝากวิธีการดีดีเหล่านี้ไว้ให้คุณพ่อคุณแม่ทุกท่านลองสังเกต และนำวิธีการไปปรับใช้ในการดูแลลูก ๆ สิ่งสำคัญ คือ หากคุณพ่อคุณแม่ทำให้ลูก ๆ ได้เรียนรู้จักตัวเอง และภาคภูมิใจในตนเองได้ ก็จะช่วยให้ลูก ๆ มีภูมิต้านทานในการดำเนินชีวิตได้อย่างมีความสุขต่อไปในอนาคตนะคะ
โดย พี่อ้อย พัชราภรณ์ คงสวัสดิ์ นักวิเคราะห์ศักยภาพ P-PAC
บทความอื่นๆ Click link